[suanboard monotone logo : 2777 bytes]
[header decor line : 64 bytes]
HOME RULE FAVOURITE MEMBER ZONE REACTIVATE FORGET PASSWORD    

SEARCH [icon freecompose : 217 bytes]
[icon register : 195 bytes] สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก : โพสต์รูป, รูปแบบตัวอักษร, ไอคอน, bookmark, ค้นหาข้อความ ฯลฯ [icon login : 178 bytes]

[icon-delete : 101 bytes]
" >> เราจะต่อสู้ และป้องกัน “ทักษิโณมิก” ได้อย่างไร "
บทความจาก blog ของ บุญชิต ฟักมี ครับ ใครขาประจำ ผู้จัดกวน คงรู้จักแกนะครับ เห็นว่าน่าบริหารสมองดีครับผม ยาวไปนิดนึงนะครับ หวังว่าคงได้อ่านกันจนจบ :D
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=boonchit&group=1

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

คุโจว ริวยะ (เลขาสัตว์ประหลาด) ถามคุนิมิตซึว่า “นี่แกคงไม่ได้เข้าใจผิดว่า พอได้รับเลือกตั้งเสร็จก็ถึงจุดหมาย (Goal) แล้วหรอก ใช่มั้ย !” 1

ผมก็ใคร่ขอถามหลายๆท่าน ที่เป็นผู้รู้ทัน ก็ดี ผู้ที่ไม่อยากมีนายกหน้าเหลี่ยมไว้บริหารประเทศเช่นนี้ต่อไป ด้วยคำถามเช่นนี้เหมือนกัน

แน่นอน, สำหรับคนที่มีจุดมุ่งหมายเพียงอยากให้นักการเมือง “อีกฝ่ายหนึ่ง” กลับมามีอำนาจ คำตอบก็ง่ายดายคือ “ใช่, ล้มทักษิณได้ก็ถึงจุดมุ่งหมายแล้ว”

แต่สำหรับประชาชนทั่วไป ที่หวังดีต่อประเทศ และมีความเห็นอย่างจริงใจว่า วิธีบริหารประเทศและใช้อำนาจรัฐของนายกทักษิณนั้นมันผิด และมันจะนำประเทศเดินเข้าสู่หายนะทั้งตาลืม

ก็ต้องตอบปัญหาของผมว่า แล้วจุดมุ่งหมายของประเทศนี้ควรจะไปทางไหน ? ถ้าไม่เอาระบอบทักษิณ ไม่เอาระบบทักษิณ และคงไม่มีใครอยากกลับไปสู่ระบบ “ปลัดประเทศ” เหมือนเดิมอีก

เราต้องคิดให้ดี เพราะการคอรัปชั่นมันเป็นเหตุสำคัญที่ทำลายชาติและสังคมรวมไปถึงการเมืองก็จริง แต่ใช่ว่าถ้าปลอดคอรัปชั่นแล้ว ประเทศจะไปได้สวยงามราบรื่นก็หาไม่ การบริหารประเทศที่โง่งม ไม่รู้เท่าทันโลกาและธนาภิวัตร ทิ้งโอกาสในการพัฒนาทรัพยากร งอมืองอเท้าสุจริตโดยไม่ทำอะไร ก็ล้วนแต่เป็นการทำให้ประเทศฉิบหายแบบช้าๆแต่ยั่งยืนเท่านั้น ต่างจากการคอรัปชั่นที่เห็นผลรุนแรงและเร็วกว่า

แต่ปลายทางมันไปทางเดียวกัน คือ เหวไร้ก้น !!!

ท่านที่รัก การเมืองไม่ใช่เกมมวยปล้ำ ที่จะมาชมมาเชียร์กันอย่างเอาสนุก ถ้าฝ่ายที่เราเชียร์ได้ชัย ก็เฮฮา ฝ่ายที่เราเกลียดชัง มีอันร่วงตกเวทีแบบหัวแตกเลือดอาบ หรือโดนมือมืดแถวถนนพระอาทิตย์เอาไหตีหัวสลบ เราก็โห่ร้องสะใจ จบแล้วกลับไปนอน

การบ้านการเมืองมันไม่ได้สนุกสนานอย่างนั้น...

ทักษิณเป็นแค่หนึ่งในการเมืองแบบธนาธิปไตยโลกาภิวัตร คือการเล่นการเมืองด้วยทุน เทคโนโลยีและเศรษฐกิจเสรีแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาในกระแสโลกาภิวัตร เป็นฐานอำนาจ

ผมสังหรณ์ใจว่า นายกทักษิณจะถึงกาลอวสานในไม่ช้านี้ ด้วยเหตุบางประการที่ไม่ขอกล่าว แต่คนที่ติดตามการเมืองแบบเข้าใจใน “อำนาจ” และความหมายของคำว่า “การใช้อำนาจ เป็นธรรมชาติของมนุษย์” (บัญญัติโดยคุณประมวลฯ) ซึ่งผมขอเติมให้อีกสักท่อนว่า และ “การหวงอำนาจ (ก็) เป็นธรรมชาติของมนุษย์เช่นกัน” ก็คงจะนึกออก ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับนายกหลังจากนี้

---------------------
1 ยูมะ อันโด และ มาซาชิ อาซามิ, คุนิมิตซึ คนจริงจอมกระล่อน เล่ม 15 (ตีพิมพ์ในประเทศไทยโดย วิบูลย์กิจ : 2548) หน้า 121

วรรคหนึ่ง – สำรวจความสำเร็จของทักษิณ

ท่านที่รัก, ท่านคงไม่ได้คิดง่ายๆ ใช่ไหมว่า นายกทักษิณประสบความสำเร็จขนาดนี้ เพียงเพราะเงินเท่านั้น

อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ เรามีนายทุนการเมืองมาแล้วหลายต่อหลายคน แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่กันไม่นาน ไม่เพราะทุนหมด ก็เพราะไม่สามารถต่อสู้กับพลังอำนาจทางการเมือง และศรัทธาของประชาชนได้ ดูแค่ผลงานในอดีตของนักปั้นนายกคนนั้นก็ได้ ว่านายกรายเดิมๆ ที่แกเคยปั้นมา มีจุดจบกันอย่างไร

แต่ทำไมนายกทักษิณถึงสามารถ “สานต่อ” อำนาจทางการเมืองได้ยาวนานถึงสองสมัย และได้รับการตอบรับกลับมาอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งสมัยที่สอง ซึ่งไม่เคยมีนายทุนการเมืองคนไหนทำได้ – ถ้าไม่อคติเกินไปก็คงต้องยอมรับว่า มันไม่ได้เกิดจากการใช้เงินซื้อชัยชนะเสียเท่านั้นหรอกนะ

หรือถ้าใครจะคิดต่อเช่นนั้น ว่าเพราะทักษิณรวยกว่าคนอื่นๆ มีเงินมหาศาลในการซื้อ อันนี้ก็ตามแต่ใจ แต่ผมคิดว่ามันไม่สามารถตอบคำถามในบางพื้นที่ที่เชื่อกันว่า “ซื้อไม่ได้” เช่น ชาวกรุงเทพฯ หรือคนในอำเภอเมืองในจังหวัดใหญ่ๆได้

ผมเชื่อว่า ทักษิณมีมากกว่านั้น เพราะ...

๑.๑ ทักษิณเป็นนายกที่ใช้ “อำนาจบริหาร” อย่างชัดเจน
อำนาจของรัฐบาลอาจแบ่งออกได้เป็นอำนาจบริหารโดยฝ่ายการเมือง และอำนาจปกครอง โดยฝ่ายราชการ ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารและปกครองไปพร้อมกัน และถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการ

การบริหารคือการกำหนดนโยบายให้ฝ่ายราชการรับไปปฏิบัติ และสามารถออกกฎ หรือเสนอกฎหมายได้ถ้าจำเป็น ส่วนอำนาจปกครองนั้น เป็นเกือบๆ อัตโนมัติ คือได้แก่การที่ข้าราชการดำเนินงานของตนหรือบริการสาธารณะไปตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมาตามกฎหมาย กฎ และระเบียบอันเกี่ยวเนื่องแก่การปฏิบัติหน้าที่

ตัวอย่างนะครับ เช่นไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นใคร นายกเป็นคนไหน เราก็ต้องไปเสียภาษีตามกฎหมาย กระบวนการในการไปโอนที่ดินที่อำเภอก็ดี หรือการไปทำบัตรประชาชน ก็เป็นไปตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ได้แปลว่า พอรัฐบาลเปลี่ยนแล้ว บัตรประชาชนไม่ต้องทำจนกว่ารัฐบาลใหม่จะสั่ง

เพียงแต่ การเสียภาษีนั้นจะมีขอบเขตอย่างไร เสียแค่ไหน บัตรประชาชนทำช้าทำเร็ว การโอนที่จะง่ายจะยาก อันนี้ละที่จะเป็นนโยบายของรัฐบาล ขึ้นกับการบริหารตามนโยบายนั้น แล้วกำหนดลงมาตามสายการบังคับบัญชาละครับ เช่น ถ้ารัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ อาจจะวางนโยบายว่าการซื้อบ้านหลังแรกในชีวิตไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ก็อาจจะทำให้ขั้นตอนในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเปลี่ยนไป (แต่บางเรื่องก็ต้องไปแก้กฎหมายด้วย)

เมื่อการทำงานของรัฐมีส่วนที่เป็นอำนาจปกครอง ที่เป็นระบบอัตโนมัติอยู่ จึงสามารถพูดได้ว่า แม้เอาลิงมาเป็นนายกสักสามเดือนประเทศก็ยังไม่ฉิบหายลงทันตาเห็น เพราะระบบอัตโนมัติต่างๆที่สำคัญ มันยังเดินไปได้ หรืออย่างที่เคยมีนายกที่ไม่ชอบใช้อำนาจบริหาร นั่งใช้แต่อำนาจปกครองตามแต่ข้าราชการจะเสนอมาอยู่ตั้งหลายปี ประเทศก็แค่เสียโอกาส แต่ไม่ฉิบหายลงไป

ทักษิณเป็นนายกที่ใช้อำนาจบริหารอย่างฉับไวและเห็นผล การออกนโยบายใดๆมาก็ตาม แม้หลายอย่างเป็นเรื่องที่อาจจะมองว่าเหลวไหล แต่มันก็เป็นการใช้อำนาจบริหารที่ก่อให้เกิด “อะไรๆ” ขึ้นในประเทศ และได้ใจคนหลายกลุ่มไป รวมทั้งการใช้อำนาจในยามฉุกเฉินเช่นเมื่อครั้งเกิดภัยพิบัติต่างๆ อย่างกรณีสึนามิเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็ต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ให้แกสอบผ่าน

ซึ่งการกล้าใช้อำนาจบริหารของทักษิณนี่แหละ ก็ส่งผลข้อสอง ตามมาคือ

๑.๒ การบริหารของทักษิณสร้าง “โอกาส” ให้คนที่รู้จักไขว่คว้า

ต้องยอมรับว่านโยบาย “ประชานิยม” หลายๆเรื่องของทักษิณ ถ้าไม่อคติกันจนเกินไปจนมองว่าหาข้อดีใดๆไม่ได้เลย (ซึ่งผมไม่เคยเจออะไรในโลกที่ไร้ข้อดีเลย) ข้อดีของมันก็คือ นโยบายดังกล่าว สร้าง “โอกาส” ให้แก่คนที่ไม่เคยได้รับ และเป็นโอกาสที่เคยถูกปิด

ต้องยอมรับว่าก่อนยุคทักษิณ เพราะการบริหารเชิงข้าราชการและอนุรักษ์นิยม ทำให้การเลื่อนชั้นของคนในสังคมเป็นไปได้ยาก คนอยู่ตรงกลางอาจจะพอขยับไต่เต้าขึ้นสู่ที่สูงได้ถ้าใช้ความพยายามอย่างสาหัสและมีโชคช่วย แต่ที่แย่คือยิ่งเป็นคนที่อยู่ล่างลงมาเท่าไร เป็นคนที่จนเท่าไร อนาคตก็ยิ่งมองเห็นได้ยากขึ้นเท่านั้น ... คนจนไม่มีโอกาสได้พบแพทย์ตามสมควร (ซึ่งในมุมกลับของมันก็ทำให้กิจการประเภทหมอเถื่อน หมอตี๋ หรือยาแก้ปวดครอบจักรวาลร่ำรวยกันต่อไป) คนจนไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ ไม่มีโอกาสเข้าถึงทุนการศึกษาโดยง่าย คนไม่รวยไม่มีโอกาสสัมผัสเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คนอยากรวย มีไอเดียแต่ไม่มีทุน ก็ต้องเก็บความฝันเปียกๆของตนเอาไว้

ความรู้สึกที่ว่า “ทำไงกูก็ไม่รวย” หรือความรู้สึกมองไม่เห็นโอกาส ทำให้คนไทยรายได้น้อยส่วนใหญ่บ้าหวย ผมเองสมัยรับราชการเงินเดือนน้อยๆ ก็เป็น ยังจำได้ผมต้องซื้อล๊อตเตอร์รี่ใส่กระเป๋าสตางค์ไว้ทุกงวด เพราะบวกลบคูณหาญดูแล้วพบว่าชีวิตนี้คงรวยยาก ซึ่งการบ้าหวยก็ทำให้คนบางกลุ่มในสังคม คือเจ้ามือหวยยิ่งรวยขึ้นๆๆๆ เข้าไปใหญ่

แต่นโยบาย “ประชานิยม” (ที่หลายคนมองว่าน่ารังเกียจ) ของทักษิณได้วิ่งเข้าไปตอบคำถามทั้งหมดอย่างเข้าตาของคนที่ต้องการ นโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค สร้างโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึง “แพทย์” ได้ง่ายขึ้น แน่นอนว่ามีกรณีเฮงซวยประเภทแจกพาราแล้วไล่กลับนั้นใช่ แต่มันก็มี “โอกาส” ในการได้พบหมอดีๆ ที่นำไปสู่การรักษาแบบที่เป็นไปไม่ได้เลยในสมัยก่อน เช่นผ่าตัด ฟอกไต หรืออะไรๆเข่นนี้ก็ได้เหมือนกัน ซึ่งยังไงมันก็ดีกว่ากินยาทำใจแล้วเข้านอนเหมือนก่อนโครงการนี้ตั้งหลายกอง

โครงการคอมพิวเตอร์เอื้ออาทร ทำให้คนที่ไม่สามารถเก็บเงินได้เป็นก้อน สามารถมีคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพพอประมาณใช้งานได้ – อย่าไปติเรื่องสเปกของมัน เพราะในวันที่คอมพิวเตอร์เอื้ออาทรวางจำหน่าย ผมใช้คอมพิวเตอร์ที่ประสิทธิภาพด้อยกว่านั้นอยู่มาก ทำงานเขียนหนังสือหาเงินอยู่ได้หลายปีทีเดียว

โครงการทุนการศึกษาจากหวยบนดิน ทั้งทุนที่ให้เรียนในประเทศและต่างประเทศ ก็ล้วนเป็นการกระจายโอกาสในการเข้าถึงทุนลงไปอย่างทั่วถึงมากขึ้น ในขณะที่ระบบการให้ทุนของรัฐในช่วงหลังๆ มักจะมุ่งมองไปทางด้าน “ศักยภาพ” มากกว่า “ความต้องการ” และ “ความตั้งใจ” ทำให้เหล่าผู้มี “ศักยภาพ” หนีทุนกันน้ำบานให้เจ้าปริเยศแช่งจนเสียน้ำลายเป็นโอ่งๆ

โครงการกองทุนหมู่บ้าน ธนาคารคนจน หรือโครงการโอทอป ก็เป็นการกระจายทุนลงไปให้คนที่มีไอเดีย มีฝีมือ แต่ไม่มีโอกาส ไม่มีตลาด สามมารถเริ่มกิจการเล็กๆของคนและมีตลาดรองรับที่เหมาะสม

ผมชอบอ่านคอลัมน์พวก “เส้นทางทำกิน” หรือคอลัมน์ “ทางสู้ SMEs” ทำให้ผมเห็นพัฒนาการที่น่าพอใจของคนมีไอเดีย ที่เมื่อมีทุน มีเส้นทาง ก็ต่อยอดไปได้ จนมีฐานะดีขึ้น และสร้างงานในชุมชนของตน...

จึงอาจกล่าวได้ว่า การดำเนินนโยบายของทักษิณ ทำให้เกิด “โอกาส” ในหมู่คนที่ไม่เคยมี หรือคนที่ไม่เคยเห็น ดังนั้นจะให้เขาไปสู่รูปแบบเดิมๆ คนที่ได้ คนที่เข้าถึง ก็ได้กันเข้าไป คนที่จนเท่าไรก็ปล่อยให้จนเสียให้เข็ด ก็คงไม่มีใครเอาอีกแล้ว

คนที่ชอบทักษิณ อย่างเพิ่งยิ้ม คนรู้ทัน อย่าเพิ่งอ้วกแตก ผมเขียนความจริงจากมุมมองที่ผมเห็น ถ้ากลัวเลี่ยน หรือกลัวฝันหวานเกินไป รีบข้ามไปอ่านข้อ ๒.๒ ก่อนก็ได้ แต่ถ้าไม่รีบ ก็ ... ว่ากันต่อนะ...

ด้วยจุดแข็งสองประการ กับต้นทุนทางเศรษฐกิจที่มากเป็นประวัติการณ์ ทำให้ทักษิณแกร่งจนใครๆก็กินไม่ลง เป็นปัญหาให้ใครบางคนหน้ามืดจนต้องคว้า “ไห” ขึ้นมาเงื้องืดอยู่ทุกวันนี้

วรรคสอง – จุดอ่อนของทักษิณ

จุดอ่อนของทักษิณคือ ... ทักษิณนั่นเอง... จุดอ่อนของเขาก็คือจุดแข็งทั้งสองข้อนั่นแหละ

๒.๒ ทักษิณเป็นนายกที่มีแนวโน้มในการใช้ “อำนาจ” อย่างไม่ยำเกรง

ทักษิณเป็นคนกล้าใช้อำนาจบริหาร ดังนั้นความกล้าที่มากเกินไปของเขา เลยพาลให้ออกไปในทางการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ทุกเรื่องในรัฐบาล นายกฯรู้ และนายกตัดสินใจเองทั้งหมด ในหลายๆครั้ง เราพบว่าการใช้อำนาจของเขาออกจะเป็นเรื่องล้ำเส้น เช่นประกาศวันเริ่มต้นการปฏิรูประบบราชการ โดยเป็นการ “บีบ” กระบวนการนิติบัญญัติให้เร่งตรากฎหมายออกมาโดยไวตามขีดเส้นตายของตน แม้ในทางปฏิบัติจะต้องยอมรับว่า รัฐบาลไหนๆ ก็ตามนั้น สภาผู้แทนฯ ล้วนเป็นฝ่ายเดียวกับฝ่ายบริหารทั้งสิ้น แต่ก็ไม่เคยปรากฏมีนายกคนไหนใช้อำนาจ “บีบ” รัฐสภาได้ชัดเจนเท่าทักษิณอีกแล้ว

ทั้งนี้มิต้องนึกด้วยว่า “ปลายทาง” ของอำนาจนิติบัญญัตินั้นจริงๆคือ ... “ใคร” และอยู่ใน “สถานะ” ที่จะไป “กำหนดวัน” ให้ได้หรือไม่ นี่เองเป็นหอกกลับมาแทงเขา โดยเฉพาะในหมู่ผู้ที่นิยมยก “เรื่องนั้น” มาชี้หน้าด่าเขา ... ซึ่งเรื่องนี้คือกรรมใดใครก่อชัดๆ

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังใช้อำนาจในการตราพระราชกำหนดแบบไม่จำเป็น และเห็นได้ชัดว่าเป็นการตราพระราชกำหนดเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มธุรกิจของนายกเอง เช่น กรณีการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 พ.ศ. 2546 ที่เปลี่ยนลักษณะของการ “จ่ายค่าตอบแทนให้รัฐ” ของกิจการโทรศัพท์มือถือ จากวิธีการจ่าย “สัมปทาน” มาเป็น “ภาษีสรรพสามิต” แทน ซึ่งก็คงไม่มีผู้ใดตอบได้ว่า ไอ้กิจการดังกล่าวถ้าจำเป็นต้องรีบออกเป็นพระราชกำหนดนั้นเป็นไป “เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ” (ตามมาตรา ๒๑๘) ตรงไหน? เพราะแม้ไม่มีกฎหมายดังกล่าวออกมา บริษัทมือถือทั้งหลายก็ต้องจ่าย “สัมปทาน” ให้รัฐอยู่ดี หรือถ้ารัฐอยากจะเปลี่ยนระบบการจ่ายสัมปทานเป็นภาษีจริง ก็น่าจะตราพระราชบัญญัติไปเสียแลยจะโปร่งใสและน่าชมกว่า

ทำแบบนี้มันเหมือน กูจะเอา ! กูจะออก! ทุบโต๊ะ โครม กฎหมายออกมาเลย !

ก็กรรมเช่นว่านี้ ทำให้เมื่อรัฐบาลตราพระราชกำหนดที่เหมือนจะจำเป็นจริงๆ ขึ้นมา เช่น พระราชกำหนดต่อต้านการก่อการร้าย (พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๔๗) หรือ สดๆร้อนๆ ก็ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ก็ไม่มีใครเชื่อแล้วว่าพระราชกำหนดดังกล่าว “จำเป็น” และ “จำต้อง” ตราจริงหรือไม่

นอกจากนั้น การใช้อำนาจบริหารบีบเอาแก่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ในสงครามปราบปรามยาเสพติด และปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ เราจะกันได้หรือไม่ว่าในครั้งสงครามปราบยาเสพติดนั้นมีการประเมินผลว่าจังหวัดใดยังมียาเสพติดอยู่ปริมาณเท่าใด และเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบในเขตจังหวัดนั้นก็จะต้องรับโทษไป ทำให้เกิดรายการกดดัน และนำไปสู่การใช้อำนาจโดยขาดการไตร่ตรอง เพื่อจะเอา “ผลงาน” (หรือใจร้ายหน่อย ก็คือจำนวนศพ) ซึ่งเป็นเครื่องเซ่น “ความสำเร็จ” ในการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลทักษิณ

เพราะการใช้อำนาจอย่างไม่ยำเกรงเช่นนี้ ก็ช่วยไม่ได้ หากในสายตาของนักวิชาการ และประชาชนบางส่วนแล้ว ล้วน “ไม่ไว้วางใจ” ทักษิณ การใช้อำนาจรัฐบางอย่างซึ่งก้ำกึ่ง หรือไม่มี “ใบเสร็จ” หรือหลักฐานโยงใยมาว่าเป็นบัญชาของท่านผู้นำหรือไม่ ก็ “ถูกเชื่อ” โดยไม่ยาก ว่าเรื่องดังกล่าวเป็น “ใบสั่ง” ของท่านผู้นำ เช่น – กรณีปัญหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งแท้แล้วเป็นปัญหาระหว่างวุฒิสภา คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญ (และพ่วงนักจงรักภักดีจำนวนหนึ่ง) กรณีการอุ้มทนายสมชาย กรณีตากใบ และความรุนแรงอื่นๆทางภาคใต้ ซึ่งถ้าพูดกันแบบยุติธรรม (แบบนักกฎหมาย ที่ถ้าไม่เห็นหลักฐานชัดเจน จะสันนิษฐานว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด) ล้วนแต่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นการ “ใบสั่ง” หรือ “เจตนา” ของนายก

แต่เพราะ “แผล” แห่งการใช้อำนาจชนิดมีใบเสร็จนั่นเอง ทำให้คน “เชื่อ” โดยถ้วนหน้า ว่าทั้งหมดล้วนเป็นฝีมือของนายกทักษิณ

๒.๒ นโยบายประชานิยม เป็นการ “อัดเงิน” และ “อำนาจ” ที่ขาดการบริหารจัดการที่ดี

ผมได้กล่าวไว้ว่า นโยบาย “ประชานิยม” หลายๆเรื่องของทักษิณ เป็นการสร้าง “โอกาส” ให้แก่คนที่ไม่เคยได้รับ และเป็นโอกาสที่เคยถูกปิด บลาๆๆ ที่กล่าวมาจนเลี่ยนอ้วกแตกในหัวข้อ ๒.๑ นั่นเอง

ปัญหาของนโยบายเหล่านั้น คือการ “อัดเงิน” และ “อำนาจ” ลงไปเพื่อ “บัญชา” ให้เกิดระบบการสร้างโอกาส หรือเยียวยาความเหลื่อมล้ำต่ำสูงแบบเร่งรัด จะเอานั่นเดี๋ยวนี้ จะเอานี่เดี๋ยวนั้น โดยขาดการใคร่ครวญและวางแผนบริหารจัดการ ทำให้หลายๆโครงการออกมาเละ ทั้งๆที่มันน่าจะดี ไม่ว่าจะเป็นระบบสามสิบบาทรักษาทุกโรค ที่ส่งผลให้แพทย์และโรงพยาบาลทำงานยากขึ้น ส่งผลให้ระบบการรักษาโดยรวม “ห่วย” ลงไป เรียกว่าถึงหมอจะไม่อยากเป็น “หมอจ่ายพาราแล้วให้กลับบ้าน” แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัด ทำให้มันได้แค่นั้น แน่ละ แม้จะมีโอกาสที่จะโชคดี เจอหมอที่นำไปสู่การรักษาพยาบาลแบบเต็มที่ถูกโรค แต่ก็อย่างว่า มันคือการ “เสี่ยงดวง” นั่นแหละครับ แม้จะดีกว่าแต่ก่อน แต่มันก็ควรจะไปได้ดีกว่านี้

นโยบายกองทุนหมู่บ้าน ธนาคารคนจน ที่มีปัญหาเรื่องหนี้สูญ หรือคนกู้เงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ก็เป็นปัญหาจากการอัดเงินลงไปก่อน อย่างอื่นว่ากันทีหลัง ผมยังจำภาพที่นายกกดปุ่มสั่งฉีดเงินลงสู่ระบบกองหมู่บ้านได้ดีครับ หรือการสนับสนุนสินค้าโอทอปบางอย่างจนล้นตลาด จนงานนิทรรศการโอทอป แทบจะกลายเป็นนิทรรศการสุราท้องถิ่นอยู่รอมร่อ หรือสินค้าโอทอปไม่พัฒนาไปมากกว่า กระจาด ตะกร้า กระบวย ขนมครองแครงกรอบ !

โครงการทุนการศึกษาจากหวยบนดิน ก็มีปัญหาหลายๆเรื่อง อย่างที่เขาว่าๆกัน ในส่วนของทุนที่ให้นักเรียนมาศึกษาต่อต่างประเทศ (คือทุน ODOS หรือทุนของเจ้าพวกน้องซิ่ว) ก็มีข้อกังขาว่า การจัดสรรทุนทำอย่างไม่โปร่งใส หรือไม่ได้คัดเอา “คนเก่ง” ที่สุดในอำเภอนั้นจริงๆมา จนหลายคนกังขาว่าเป็นทุนส่งลูกหลานหัวคะแนนมาเรียน นอกจากนี้การจัดการที่มึนๆ เหมือนอัดเงินให้เด็กมาเรียนก่อน มีปัญหาก็ตามแก้ทีหลังก็มีอีกมาก เช่น นักเรียนทุนนี้ไม่ได้เซ็นสัญญาใช้ทุน จึงมีสภาพกึ่งๆ นักเรียนทุนรัฐบาลไทย แต่ก็ไม่มีสิทธิบางอย่าง เช่น สิทธิที่รัฐบาลไทยจะค้ำประกันสัญญาบางอย่างให้ ซึ่งแม้จะแก้ปัญหาให้ออกมาค่อนข้างสวยในปัจจุบัน แต่ก็เป็นลักษณะการ “ตามแก้ปัญหา” นั่นเอง

และไม่ต้องพูดถึงความเลอะเทอะของโครงการคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คเอื้ออาทรภาคสอง สำหรับเด็กประถม โอ้ว พระเจ้าไกเซอร์ มันเวอร์มาก

แต่ผลร้ายที่สำคัญกว่านั้น คือลักษณะของโครงการเหล่านั้น ไม่ใช่โครงการที่อยู่ หรือเกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง (ยกเว้นพวกที่ใช้รายได้จากหวยบนดินมาช่วย) ถ้าเมื่อไรที่รัฐหมดเงิน หรือไม่สามารถอัดเงินเข้าสู่ระบบดังกล่าว สวรรค์เอื้ออาทรทั้งหลายก็จะฉิบหายลงทันตาเห็น

วรรคสาม – ถ้าคุณอยากมาแทนที่ทักษิณ

คุณต้องรักษาจุดแข็งของทักษิณไว้ เพราะหาไม่แล้ว ประชาชนที่ “เคยชิน” กับผู้นำที่เข้มแข็งทำงานจริงจัง และระบบรัฐสงเคราะห์ที่สร้างความเท่าเทียมให้แก่ประชาชนได้ระดับหนึ่งดังที่ว่าไปแล้วนั้น คงจะไม่ให้โอกาสคุณนานนัก ไม่ว่าคุณจะสุจริต มือสะอาด มาดดี ไม่มีย้วยขนาดไหนก็ตาม

ผมขอบอกว่า มันหมดยุคอำนาจข้าราชการ กลุ่มทุนผู้ดีเก่าครองเมือง หรือคนที่อ้างว่าสุจริต มือสะอาด แต่นั่งหน้าแป้นรับรายงานจากข้าราชการปกครองประเทศแล้วครับ

ต่อให้ได้นายกที่ภาพพจน์สะอาดที่สุด สุจริตไม่มีประวัติเสีย หรือแม้แต่ใกล้ชิดกับสิ่งอันควรเคารพ (เช่น ดร. ผู้อัญเชิญคนนั้น) ก็ยากที่จะประคองศรัทธาของประชาชนไปได้

ไม่ต้องพูดถึงวิสัยทัศน์หน้าโง่ ติดกับกรอบวิธีคิดแบบ “ราชการ” เช่น จะยกเลิกหวยเถื่อนแล้วปราบปรามด้วยการเอาตำรวจไปไล่จับ... โอ้ววว หรือรักษาพยาบาลฟรีโดยตอบไม่ได้ว่าเอาเงินมาจากไหน (ขนาดสามสิบบาทยังกระรุ่งกระริงเนี่ยนะ ?)

เชื่อผมเถอะ เสียงคนหลายล้านเสียงที่กากะบาดให้ทักษิณขึ้นมาเป็นนายกสมัยที่สอง กว่าครึ่งก็ไม่ใช่คนที่รักทักษิณเท่าไรหรอก แต่เพราะมันไม่มีทางเลือกจริงๆ

จะชั่วจะเลวก็ต้องกล้ำกลืนเดินหน้าต่อ เพราะไม่อยากถอยหลังกลับไปสู่สภาพเดิมๆอีก

ขอบอกว่า ในปัจจุบัน หลังจากยุคทักษิณ การขายแต่ความสุจริต “ไม่พอ” แล้ว อาจจะใช้ได้ในช่วงแรกที่ทักษิณล้มลงไปใหม่ๆเท่านั้น แต่หลังจากนั้นไม่เกินสองปี ความต้องการของประชาชนจะบอกคุณเองว่า “เขายังไม่พอ”

หากคุณอยากมาแทนทักษิณ สิ่งที่ควรจะทำ คือการเสนอนโยบายแข่ง นโยบายที่สมจริงไม่เพ้อฝัน นโยบายที่อัพเกรดจากของทักษิณไปอีกขั้น และอุดช่องว่างต่างๆของนโยบายเหล่านั้น รวมทั้งเสนอนโยบายใหม่ๆที่นโยบายของทักษิณไปไม่ถึง

นอกจากนั้น เมื่อคุณเข้าสู่อำนาจ คุณจะต้องมีบทบาทของ “ผู้นำ” ที่สามารถใช้อำนาจบริหารได้ตามขอบเขตที่สมควร กล้าตัดสินใจ มิใช่เพียงการรอรับรายงานจากฝ่ายราชการ แต่กระนั้น คุณจะต้องใจกว้างพอต่อระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทั้งหลายทั้งปวงอีกด้วย ด้วยการอย่าเข้าไปแทรกแซงถ้าไม่จำเป็น

ทริกเล็กๆอีกอย่าง คืออย่าทะเลาะกับสื่อมวลชน แต่ก็อย่าไปเอาใจมาก เพราะถ้าเมื่อไรเขาขออะไรที่คุณให้ไม่ได้แล้วที่นี้จะเกิดรายการเจ็บตัวกันขึ้น ที่สำคัญ พยายามสนับสนุนการสื่อสารแบบปัจเจกชน ต่อปัจเจกชน เช่น เวบไซต์ และเวบบล็อกทั้งหลาย ผมบอกให้ได้ว่า ปัจจุบันนี้อำนาจของสื่อมวลชนไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนแต่ก่อนอีกต่อไปแล้ว เพราะความก้าวหน้าของการสื่อสารสองทางของปัจเจกชนเช่นว่านั้นแหละ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ไม่ใช่ทางเลือกที่ประชาชนจะเสพย์และเชื่อเสมออีกต่อไปเราจะเห็นได้ว่า ภาพยนตร์ เพลง ละคร เริ่ม “กลัว” กระแสในเวบไซต์มากกว่าที่คิด เพราะเป็นสิ่งที่สั่งไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ บางรายถึงขนาดต้องจัดหน้าม้าเข้าไปควบคุมและดูแลกระแสในเวบไซต์กระนั้นเชียว

เราจะเห็นได้ว่าสื่อมวลชนที่รู้เท่าทัน ได้ “เปลี่ยน” ตัวเองไปสู่สื่อรูปแบบผสมหมดแล้ว เพราะรู้และตระหนักถึงอนาคตที่ว่านี้

เดี๋ยวนี้ใครก็เปิดเวบไซต์ ใครก็มีเวบบล๊อก คนนั้นก็เป็นสื่อมวลชน และคนรับสื่อได้พร้อมๆกัน หนังสือพิมพ์ดีไม่ดีจะถูกลดค่าเป็นแค่ “เวบบล๊อก” ขนาดยักษ์อันหนึ่งเท่านั้น... การสนับสนุนอินเทอร์เน็ทอย่างทั่วถึง การให้เสรีภาพในการสื่อสารผ่านสายทองแดง ล้วนแต่ทำให้ท่านรอดพ้นจากการ “ถูกด่าข้างเดียว” จากปลายปากกาของสื่อมวลชนได้

นอกจากนี้ คุณต้อง “ตอน” อำนาจของการเมืองฝ่ายที่จะใช้เงินเล่นการเมือง ด้วยการนำสมดุลย์แห่งสังคมกลับคืนมาโดยเร็วที่สุด

การสร้างภูมิคุ้ม และความเท่าเทียมกันให้สังคม จะเป็นการป้องกันการกลับมาของการเอาเงินเล่นการเมืองได้

รายละเอียดค่อนข้างยาว ... รออ่านตอนต่อไปก็แล้วกัน

01 ก.ย. 48 / 02:42
0 0
meed [icon smile : 92 bytes] : n/a : n/a : n/a
view 277 : discuss 3 : rating - : bookmarked 0 : vote 0 58.64.120.63

#1# - 133097 [icon-addtodelete : 101 bytes]
[member icon] ขอบคุณที่เอามาให้อ่านเปิดหูเปิดตาซะบ้างครับผม ^^
01 ก.ย. 48 / 13:01
0 0
padfoots [icon smile : 92 bytes] : n/a : n/a : n/a
followup id 133097 161.246.1.35 <= 161.246.3.79

#2# - 133104 [icon-addtodelete : 101 bytes]
[member icon] ผมเอาแต่เรื่องสื่อ เพราะ หากินกะสื่อ

สื่อรู้เท่าทัน และปรับเปลี่ยนสู่รูปแบบผสม

แต่ถ้าปลายทางของการสื่อสารก็คือผู้รับสาร จะวิเคราะห์ระดับปัจเจกชนหรือมวลชน
ถ้า "ไม่รู้เท่าทัน" แล้วซะอย่าง ก็ยังพูดได้ไม่เต็มปากครับว่าสื่อมวลชนนั้นลดบทบาทและอิทธิพลลง มันอาจจะเป็นช่องทางชี้นำที่เงียบฉี่อย่างหนึ่งก็ได้

ส่วนการเมือง ไม่รุ้จะวิพากษ์เรื่องอะไร มึน !!!
01 ก.ย. 48 / 19:05
0 0
Acting 2, Lt. Arm119 [icon smile : 92 bytes] : [ protect email from spamware ]
followup id 133104 203.151.140.119 <= 203.113.33.9

#3# - 133177 [icon-addtodelete : 101 bytes]
[member icon] สื่อรู้ทัน ผมว่าตอนนี้มีนายกเป็นนักข่าวแล้วครับ
ผมว่าสื่อหนะไม่รึ้อะไรอีกเยอะทัง้เรือ่งดีที่แกล้งหลับตาและเรือ่งแย่ที่ไม่มีทางรู้

รู้ทันก็เป็นนายกแล้วจริงๆครับ
02 ก.ย. 48 / 21:18
0 0
kav [icon smile : 92 bytes] : n/a : n/a : n/a
followup id 133177 61.91.150.215