[suanboard monotone logo : 2777 bytes]
[header decor line : 64 bytes]
HOME RULE FAVOURITE MEMBER ZONE REACTIVATE FORGET PASSWORD    

SEARCH [icon freecompose : 217 bytes]
[icon register : 195 bytes] สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก : โพสต์รูป, รูปแบบตัวอักษร, ไอคอน, bookmark, ค้นหาข้อความ ฯลฯ [icon login : 178 bytes]

[icon-delete : 101 bytes]
" อันซีนอินฮ่องกง – การประชุมระดับนานาชาติ (4) "
อันซีนอินฮ่องกง – การประชุมระดับนานาชาติ (4)

เก่ง วงศ์กล้า
keng_wongkla@hotmail.com

ขืนเที่ยวทู่ซี้ ลากนู่นนี่นั่นโน่นมาเขียนไม่รู้จบ ถ้าไม่ใช่ผู้อ่านท่านใดท่านหนึ่ง เกิดปรอทแตก ส่งอีเมลล์มาสรรเสริญกระผม ว่าไปกันแค่ 4 วัน 3 คืน จะโม้อะไรนักหนาหละก็ เห็นทีจะเป็นบรรณาธิการ ที่อาจตัดสินใจไม่ลงให้ต่อ

ตอนที่ 4 ที่กำลังอ่านกันอยู่นี้ จึงเป็นภาคจบของซีรี่ส์ “อันซีนอินฮ่องกง – การประชุมระดับนานาชาติ” ซึ่งต้องย้ำกันอีกครั้งว่า เป็นเพียงมุมมองหนึ่งของ “นักเรียนอาชีพ” ที่เพิ่งเคยเดินทางไปต่างประเทศ ที่เขาใช้ภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ลาว

ขออนุญาตทิ้งท้ายกันไว้ด้วย 3 ประเด็นคัดสรร คือ ระบบขนส่งมวนชน คน และอาหาร อันเป็นเรื่องที่พวกเรามีความรู้สึกร่วมกันว่า ทั้งประทับใจ ประหลาดใจ รวมถึง ยังค้างคาใจ

ส่วนเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกเป็นจำนวนมาก ก็คงต้องขออนุญาตพัก เก็บใส่ๆ ซุกๆ ไว้ตามลิ้นชักก่อน เมื่อใดมีโอกาสเหมาะสม คงจะได้นำออกมาเล่าประกอบกันไปตามสมควร

เริ่มจากการทำความเข้าใจพื้นเพกันสักนิด ว่าเขตบริหารพิเศษฮ่องกงที่พูดถึงกันมาตลอด 3 ตอน มีขนาดกระทัดรัดเพียง 1,104 ตารางกิโลเมตร มากหน่อยเท่าไหร่ ก็ประมาณ 2 ใน 3 ส่วน ของกรุงเทพมหานครของเรา เท่านั่นแหละ

แต่ในแง่ของประชากร กลับมีมากโขถึงกว่า 7 ล้านคน เยอะกว่าคนกรุงฯ ของเรา ถึงประมาณร้อยละ 30 ความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ จึงสูงกว่ากันเห็นๆ ถึงร้อยละ 75 เรียกว่าเกือบเท่าตัวกันเลยทีเดียว

หลายสิ่งหลายอย่างในดินแดนแห่งนี้ จึงต้องถูกออกแบบมา รองรับกับความจำกัดจำเขี่ยดังกล่าว เพื่อให้สามารถอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน

รวมถึงรองรับการเป็นเขตเศรษฐกิจของภูมิภาค ที่มียอดรายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP Per Capita) สูงติดอันดับท็อปเท็นของโลก ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งแน่นอน สิ่งที่จะโหลยโท่ยไปเสียมิได้ ก็คือ “ระบบขนส่งมวลชน” จินตนาการง่ายๆ เช่นนี้แล้วกันครับว่า เวลาเร่งด่วนบนถนนสายหลักใจกลางเมืองของเรา ว่าคนเยอะรถแยะแล้ว ถ้าต้องอัดเพิ่มเข้าไปอีกสัก 30 เปอร์เซ็นต์

เห็นที ระบบการเข้างาน อาจจะต้องเลื่อนเวลาไปเป็นสัก 10 โมงครึ่ง แล้วไปเลิกเอาหลังเคารพธงชาติ ช่วงเย็นย่ำค่ำมืดโน่นแหละ

แต่ที่ฮ่องกง ระบบขนส่งมวลชนของเขาดีเหลือหลายครับ ถึงคนจะขวักไขว่กว่า แต่รถกลับมีไม่มากอย่างบ้านเรา ไปไหนมาไหน ส่วนใหญ่เขาลง “รถไฟฟ้าใต้ดิน” กัน

นอกจากราคาจะสมเหตุสมผลกว่าบ้านเราอยู่มากแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับระยะทางที่โดยสาร ความถี่ก็นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่น่าประทับใจยิ่ง

เรียกว่าตั้งแต่ก้าวแรกๆ ที่เหยียบลงบนดินแดนแห่งนี้เลยหละ ที่สนามบินนานาชาติฮ่องกง หรือที่ใครหลายคนเรียกว่า “เช็กแล็บก็อก”

ก็มีป้ายประชาสัมพันธ์ แผ่นเบ่อเริ่มเบ่อเทิ้ม เขียนบอกไว้ว่า “Relax, Train comes every 2 minutes” แปลด้วยสำนวนนักเรียนโอท็อปอย่างกระผม ได้ว่า “ใจเย็นๆ ครับพี่น้อง ไม่ต้องรีบ ล้มไปไม่คุ้ม รถไฟของเรามันจะมาทุก 2 นาที”

เมื่อแผนที่ซึ่งพวกเราได้รับจากไกด์ทัวร์ที่สนามบิน ยืนยันว่าแทบทุกพื้นที่มีรถไฟ ไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่งแล่นผ่าน พอให้เดินท้าวต่อไปเองได้

นอกจากการเดินทางจาก สถานีทินชุ่ยเหว่ย ต่อไปยัง โรงแรมฮาร์เบอร์ พลาซ่า รีสอร์ท ซิตี้ ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมในวันแรก
และการเดินทางออกจาก โรงแรมพรูเดลเชียล ที่พัก ไปยัง แอร์พอร์ท เอ็กเพรส พร้อมด้วยกระเป๋าสัมภาระคนละใบสองใบ กับห่านย่างคนละตัวสองตัว

ก็ไม่มีอีกเลย ที่พวกเราจะเลือกใช้บริการรถแท็กซี่ โตโยต้าคราวน์ สีเขียวๆ แดงๆ ให้เปลืองสตางค์ เพราะนอกจากจะเก็บค่าโดยสารตามระยะทางปกติแล้ว เขายังมีรายละเอียดอีกมากมาย

อาทิ 4 ดอลลาร์ฮ่องกง สำหรับทุกๆ กระเป๋าสัมภาระหนึ่งใบ สัตว์เลี้ยง หรือนกหนึ่งตัว ซึ่งก็นับว่ายังมีมนุษยธรรมอยู่บ้าง ที่บรรดารถเข็น หรืออุปกรณ์เครื่องช่วยเดินสำหรับคนพิการ เขายกเว้น ไม่ชาร์ตสตางค์เพิ่ม

สะดวกขนาดนี้ เวลาเร่งด่วน คนฮ่องกงที่ว่าอยู่กันหนาแน่นกว่ากรุงเทพฯ ของเรา จึงไม่พลุกพล่านนักบนท้องถนน เพราะส่วนใหญ่เขาหลบกันอยู่ใต้ดิน ในรถไฟฟ้าซึ่งทิ้งช่วงห่างกันเพียงไม่กี่นาที

ภาพลักษณ์ความล้ำสมัย การเป็นแหล่งท่องเที่ยว ศูนย์กลางธุกิจ บวกกับความรับรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของฮ่องกง ที่เคยเป็น “เกาะเช่า” ของมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของภาษา อย่างประเทศอังกฤษ

คนทั่วไป ซึ่งแน่นอน นับรวมพวกกระผมเข้าไปด้วย จึงมักนึกเอาว่า ชาวฮ่องกงเขาต้องฟังพูดอ่านเขียนภาษาประกิต กันได้คล่องปรื๋อแหงแซะ

กระทั่งลงจากรถไฟฟ้าที่ สถานีทินชุ่ยเหว่ย เพื่อจะเดินทางต่อไปยัง โรงแรมฮาร์เบอร์ พลาซ่า รีสอร์ท ซิตี้ ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมในวันแรก… คุ้นๆ ใช่ไหมหละครับ

ด้วยการกวาดสายตาอย่างรวดเร็วของ สิงห์หนองจอก จนได้พบกับ นักเรียนสาวชาวฮ่องกง หน้าใสๆ ผมสั้นๆ ขาเล็กๆ 2 คน แกจึงปรี่เข้าไปเเพื่อถามเส้นทาง ว่าพวกเราจะต้องเดินออกไปทางไหน เพื่อต่อรถไฟฟ้าไลท์เรลไปยังโรงแรม

อึกอักกันอยู่นานทีเดียวครับ น้องหมวย 2 คนเขาก็พยายามยกมือยกไม้ แต่ไม่รู้จะพูดว่าอะไรดี ท้ายที่สุดจึงตัดสินใจ พาพวกเราเดินร่วมกิโล เพื่อไปต่อคิวรอรถแท็กซี่

ถ้าไม่นับความจำเป็นในการแบกหามสรรพสัมภาระหละก็ นี่ก็นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของเราในทริปนี้ ที่ตัดสินใจใช้บริการรถแท็กซี่ ด้วยเหตุที่เรามาประติดประต่อเรื่องกันเองในภายหลังได้ว่า

น้องทั้ง 2 คนเขาพยายามจะบอกเราว่า ให้เลี้ยวขวาออกช่องแรก เดินลงบันไดเลื่อนไป จากนั้นให้รอรถไฟฟ้าสาย 706 แต่แกขึ้นคำว่า “Turn Right” ไม่ถูก ยิ่งพวกเราทำท่าไม่ตอบรับกับภาษามือ แกจึงต้องพาเราไปขึ้นแท็กซี่แทน

ยังครับ ยังไม่จบ ไม่ใช่แต่นักเรียนหรอกนะที่พูดไม่ถูก รถแท็กซี่ยิ่งหนักข้อไปใหญ่ ขนาดเราบอกแค่ชื่อโรงแรมเป็นภาษาอังกฤษ แกยังไม่รู้เรื่องเลย ต้องต่อโทรศัพท์ไปหาแฟน ให้แฟนคุยกับเรา ถึงจะออกรถไปกันได้

คนค่อนเมืองเขาสื่อสารกันด้วยภาษากวางตุ้ง อาจารย์ ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลูกสาวของ รองศาสตราจารย์ ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ที่เคารพของกระผม

ซึ่งมีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านจีนโพ้นทะเลศึกษา ได้ทุนไปทำหลังปริญญาเอกที่นั่นยังบ่นให้ฟัง ว่าขนาดในมหาวิทยาลัยฮ่องกง เวิลด์แรงกิงค์อันดับ 20 ต้นๆ ของโลก ถ้าไม่จำเป็น เขาก็คุยกวางตุ้งกัน

นักท่องเที่ยวมา ใช้ภาษาอังกฤษว่าสื่อสารลำบาก คนใช้ภาษาจีนกลางอย่างเขา เอาเข้าจริง ก็คุยกับชาวบ้านร้านตลาดไม่รู้เรื่องเหมือนกันนั่นแหละ

อ่านหนังสือพิมพ์บนเครื่องบินขากลับ เห็นฉบับหนึ่งพาดหัวว่า “Poor English skills could leave Thais out in cold, Universities' must improve teaching before ASEAN community launches”

แปลด้วยสำนวนของกระผม ก็คือ “ทักษะระดับเอ๋อๆ ด้านภาษาอังกฤษของคนไทย อาจทำให้เราตกขบวน เป็นเวรเป็นกรรมของมหาวิทยาลัย ที่จะต้องรับภาระพัฒนาการสอนให้ทันก่อนประชาคมอาเซียนจะเริ่มต้น”

ในฐานะนักเรียนมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ที่ภาษาอังกฤษยังเข้าขั้นเอ๋อ ขอยืนยันตรงนี้เลยครับว่า “ไม่ต้องแตกตื่น” คนไทยดีกว่าคนฮ่องกงเยอะแยะไป นั่นเขายังอยู่ได้ ฉะนั้น เราไม่ตายแน่ๆ

แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่ต้องเรียนต้องพัฒนาดอกนะ เพราะนั่นมันหมายถึงโอกาสอะไรอีกมากมาย ที่สำคัญ ขอร้องว่าอย่ามั่ว เอาคำพูดข้างบนไปอ้าง ว่ากระผมบอกให้เลิกสนใจภาษาอังกฤษหละ

ปิดท้ายกันด้วยเรื่องสำคัญที่สุดของการเดินทาง “อาหาร” ซึ่งต้องขอกราบขอบพระคุณในความกรุณา ของ ดร.วาสนา จริงๆ ครับ ที่สรรหาพาพวกเราไปทานสุดยอด “ติ่มซำ” คุณภาพเลิศ ระดับ “มิชลินสตาร์” ในราคาเหมาะสม

เพราะนอกจากบะหมี่เนื้อที่กระผมตั้งใจตั้งแต่ก่อนเดินทาง และสามารถซัดไปได้เกินเป้า นับจำนวนกันได้ไม่ถ้วน ทั้งที่หาทานได้ทั่วไปตามท้องถนน จนถึงร้านดังดาราการันตีเพียบบนถนนฮอลลีวูด

ก็เห็นจะเป็นร้านอาหาร ซึ่งแนะนำและรับรองคุณภาพ โดยบริษัทยางรถยนต์ ระดับ 1 ดาว 2 ปีซ้อนนี่แหละ ที่ยังคงค้างคาใจพวกเราอยู่

เพราะตั้งแต่ได้ทานครั้งก่อน ลิ้นของพวกเราก็เกิดเสียนิสัย ทานติ่มซำในเมืองไทยแทบไม่ได้อีกเลย ให้ต้องนึกถึงว่าแป้งฮะเก๋าของที่นั่นมันบางแค่ไหน กุ้งเป็นกุ้ง หมูเป็นหมู ไม่น่าเชื่อว่านี่หรือที่เมื่อก่อนเราทานกัน

ก่อนจากกันไป ฝากแซวไปถึง นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เห็นหลายวันก่อนเสียพื้นที่หน้า 1 หนังสือพิมพ์ไปแทบทุกฉบับ กับการแถลงข่าวเรื่องข้าวไข่พะโล้-หมูทอด จานละ 60 บาท

คุยกันมากับหลายท่านแล้วครับว่า ถ้าแกไม่ได้บินไปซื้อมาจากฮ่องกง งานนี้ที่แกว่าชาวบ้านเดือดร้อน คงไม่ใช่เพราะของแพง เนื่องจากมันไม่มีจริง แต่เป็นเพราะเสียดายเงินภาษีที่เอาไปจ่ายเงินเดือนให้แก โถ... ทำไปได้ !!!

--------------------------------------

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 หน้า 6
13 ก.พ. 55 / 15:55
0 0
finn [icon smile : 92 bytes] (3370) : [ protect email from spamware ]
view 1763 : discuss 0 : rating - : bookmarked 0 : vote 0 158.108.233.160


กระทู้นี้ต้องล็อกอินก่อนแสดงความคิดเห็นครับ

[icon login : 178 bytes]