[suanboard monotone logo : 2777 bytes]
[header decor line : 64 bytes]
HOME RULE FAVOURITE MEMBER ZONE REACTIVATE FORGET PASSWORD    

SEARCH [icon freecompose : 217 bytes]
[icon register : 195 bytes] สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก : โพสต์รูป, รูปแบบตัวอักษร, ไอคอน, bookmark, ค้นหาข้อความ ฯลฯ [icon login : 178 bytes]

[icon-delete : 101 bytes]
" เสรีภาพในทาง ‘วิชาการ’ "
เสรีภาพในทาง ‘วิชาการ’

เก่ง วงศ์กล้า
keng_wongkla@hotmail.com

ในฐานะบุคคลหนึ่ง ที่จัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ของตนเองกับสังคม ว่าเป็น ‘นักวิชาการ’ อาชีพที่ย้ำนักย้ำหนา ว่าเป็นสัตว์โลกซึ่งมี ‘สมอง’ และ ‘ปาก’ พัฒนามากเป็นพิเศษ ตรงข้ามกับ ‘มือ’ ที่ค่อนข้างจะเรียวเล็กและบอบบาง

ผ่านสื่อครั้งล่าสุด เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว ในบทความเรื่อง ‘อย่าได้คาดหวังอะไรจาก ‘นักวิชาการ’ (ให้มากนัก)’ ยกตัวอย่าง นักปราชญ์หลวงคนหนึ่ง ผู้ชอบอวดภูมิปัญญาจนเกินงาม คล้ายแม่อึ่ง ที่พยายามพองลมแข่งกับโค

ด้วยวัตถุประสงค์ในการ ปรามมิให้แม่อึ่งต้องท้องแตกตาย เพียงเพราะไม่รู้จักประมาณตน พร้อมๆ กันกับเตือนสติลูกอึ่ง ว่าอย่าได้หลงส่งเสียงเชียร์ ด้วยเชื่อถือโดยสุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความฉิบหาย ทั้งแก่ตนเอง และส่วนรวม

เพราะนักวิชาการ ก็เป็นเพียงมนุษย์ขี้ฟันเหม็นคนหนึ่ง ไม่ได้มีญาณทัศนะอะไรวิเศษ นอกจากความรู้เฉพาะด้าน และความเชี่ยวชาญในการใช้ตรรกะ
ซึ่งเอาเข้าจริง ก็ยังไม่มีใครหน้าไหนกล้ารับรอง ว่าผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก จะมีโอกาสเดาถูก มากกว่าผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาตรี มัธยมศึกษาปีที่ 6 ประถมศึกษาปีที่ 4 กระทั่งไร้การศึกษาเลย สักกี่มากน้อย

ดู ศาสตราจารย์ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เจ้าของแนวคิด ‘สองนคราประชาธิปไตย’ เป็นตัวอย่างสิครับ แม้จะนั่งโต๊ะ จุดเทียน เขียนตำรับตำราทางการเมืองมามากมาย จนเป็นที่ยอมรับ ลูกศิษย์ลูกหายกย่องว่าเข้าขั้นเทพ

พอตัดสินใจ กระโดดเข้าสู่เวทีทางการเมืองจริงๆ รับบทบาทเป็นหัวหน้าพรรคมหาชน เลือกตั้งเมื่อ พ.ศ.2548 นอกจากตัวจะสอบตก ไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎรแล้ว ยังเกือบหมดเนื้อหมดตัว ทั้งสตางค์ และความนับหน้าถือตา
เข้าใจว่าคงใช้ประสปการณ์คงเป็นครู ท้ายที่สุด จึงหวนกลับมานั่งโต๊ะ จุดเทียน ทำงานวิชาการที่ถนัด ดังเดิม

ล่วงเลยมาครึ่งปีเศษ ความคิดความเห็นเมื่อวันนั้น ยังคงเหมือนเดิม ไม่มีข้อเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่นำมาขยายความกันในวันนี้ ต้องชี้ให้ชัด เพราะเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมประชาธิปไตย
นั่นก็คือ ‘เสรีภาพในทางวิชาการ’

เริ่มจากการอ้างอิงกฎหมายแม่บท ที่ได้ชื่อว่าเป็นข้อกำหนดสิทธิ เสรีภาพ ตลอดจน หน้าที่ ของพลเมืองในรัฐ กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งมิได้ (อันนี้ว่ากันตามตำรา เป๊ะ !) กล่าวคือ รัฐธรรมนูญ (แห่งราชอาณาจักรไทย)

เขียนๆ ฉีกๆ ย้ำกันเผื่อท่านใดเกิดสับสน ว่าฉบับปัจจุบัน เป็นฉบับพุทธศักราช 2550 บัญญัติไว้ใน หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ 8 สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา มาตรา 50 ความว่า

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”

ที่ต้องยก และนำมาย้ำกันเช่นนี้ เพื่อท้าวความเข้าสู่ ความขัดอกขัดใจของกระผม ที่เกิดขึ้น เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เกี่ยวเนื่องกับ การแสดง ‘ความคิดเห็น’ ของภาคส่วนต่างๆ ต่อ ‘ความคิดเห็นในทางวิชาการ’

ความคิดเห็นแรก เป็นของ คำ ผกา นักเขียนและนักจัดรายการชื่อดัง ในบทความเรื่อง ‘ขอคุยบ้างสิ’ ตีพิมพ์ลงใน หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 23-29 มีนาคม พ.ศ.2555

ร่วมโจมตี การออกมาแสดงความคิดเห็น ของ ศาสตราจารย์ ธีรยุทธ บุญมี เจ้าของฉายา ‘เสื้อกั๊ก’ หลังจากที่หายหน้าหายตาไปกว่า 2 ปี

ทั้งที่คอลัมน์ของ คำ ผกา เป็นหนึ่งในไม่กี่คอลัมน์ ที่กระผมจัดเอาเอง ว่าเป็นส่วนที่ ‘ขาดไม่ได้’ สำหรับการติดตามอ่านมติชนสุดสัปดาห์ บนรถเมล์ยามเช้าของวันศุกร์

พอๆ กับความไม่หลงไหลได้ปลื้ม ที่มีต่อผลงานของ ธีรยุทธ บุญมี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคหลังๆ ตามประสานักเรียนสังคมศาสตร์รุ่นใหม่

ก็ให้อดขัดอกขัดใจ กับการใช้ตรรกะของ คำ ผกา ที่ไม่เพียงแต่จะสุดลิ่มทิ่มประตู ตามสไตล์ อันเป็นข้อที่เข้าใจได้ ของนักเขียนหัวก้าวหน้า รวมถึง เป็นสิ่งที่ทำให้แฟนานุแฟนจำนวนมาก ติดตามผลงานของเธอ

แต่ยังก้าวไปสู่ การอ้างถึงความคิดเห็นของนักวิชาการคนหนึ่ง ในฐานะ ‘ความจริงสูงสุด’ เพื่อล้มล้างความน่าเชื่อถือ ของความคิดเห็นของนักวิชาการอีกคนหนึ่ง

ด้วยความเคารพ กระผมขอย้ำว่า โดยส่วนตัว ไม่มีความขัดแย้งใดๆ กับ อาจารย์ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ที่ คำ ผกา อ้างถึง

แค่เกิดอาการผิดหวัง กับการโอนอ่อนผ่อนตาม ‘ธง’ ในการวิพากษ์วิจารณ์ จนหละหลวมกับการใช้ตรรกะ ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่า ความคิดเห็นในทางวิชาการ มันไม่มีอะไรถูก ไม่มีอะไรผิด เป็นแต่เพียงการใช้เหตุใช้ผล เพื่อโน้มน้าวจิตใจ

ก็ใครจะบอกได้เล่า ว่าความคิดเห็นที่ว่าถูก ความคิดเห็นที่ว่าผิด ขนาดทฤษฎีในทางวิทยาศาสตร์ ที่เขามีเครื่องไม้เครื่องมือ ช่วยในการพิสูจน์มากมาย ยังผิดมาก็เยอะแยะ

นี่มันความคิดเห็นทางสังคมศาสตร์ ถ้า คำ ผกา เชื่อว่า ธีรยุทธ บุญมี ผิดได้ คำ ผกา ก็ควรจะเชื่อว่า ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ผิดได้เช่นเดียวกัน เพราะความคิดเห็นทั้ง 2 ต่างก็มีค่าเป็นเพียงความคิดเห็น ‘เท่าเทียมกัน’

ว่ากันให้มันสุดๆ ไปเลยก็คือ แม้ความคิดเห็นของ ธีรยุทธ บุญมี จะผิด คำถามก็คือ แล้วไง ?

เพราะ คำ ผกา เองก็น่าจะตระหนักได้ดีว่า ข้อที่สำคัญเหนือความคิดเห็นของ ธีรยุทธ บุญมี ก็คือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ ‘ประชาชน’ ได้มีโอกาสรับฟังข้อเท็จจริงที่รอบด้าน เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจด้วยตนเอง

ความคิดเห็นที่สอง เกี่ยวเนื่องกับ ‘รายงานวิจัย การสร้างความปรองดองแห่งชาติ’ ของ สถาบันพระปกเกล้า ที่จัดทำขึ้นเพื่อ เสนอต่อ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร

จนเป็นเหตุให้เกิดเรื่องราวใหญ่โต ชนิดที่ใครหลายคน นำมาแซวกันแรงๆ ว่า รายงานวิจัยการสร้างความปรองดองฯ จะกลายเป็นสิ่งที่ทำลายความปรองดอง (?)

ความวุ่นวายเกิดขึ้น เมื่อ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานกรรมาธิการ นำเรื่องเข้าสู่รัฐสภา จนป็นเหตุให้เกิดกระแสเรียกร้อง ให้สถาบันพระปกเกล้า หน่วยงานผู้จัดทำรายงานวิจัย ‘ถอน’ ผลการวิจัย !

ไม่น่าเชื่อว่า ข้อเรียกร้องสุดมหัศจรรย์นี้ จะหลุดออกจากปากของ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย อย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ที่โดยพื้นเพ น่าจะเข้าใจธรรมชาติของผลงานวิจัย รวมถึงความคิดความเห็นทางวิชาการ เป็นอย่างดี

การออกมาเรียกร้องให้ถอนผลการวิจัย อันเป็นข้อที่ขัดต่อธรรมเนียมปฏิบัติอย่างยิ่งในทางวิชาการ เพราะนั่นหมายถึง ความไม่น่าเชื่อถือ ขาดความเป็นกลาง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ตามใบสั่ง ของทั้งผลงานวิจัย และตัวผู้ทำวิจัย

แทนที่จะเป็น การวิพากษ์วิจารณ์ ‘ระเบียบวิธี’ ซึ่งทางสถาบัน ก็อุตส่าห์อธิบายสรุปมา เปิดช่องให้กล่าวถึงตั้งมากมาย

เริ่มจาก การทบทวนแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง การสรุปบทเรียนจากเวทีประชาเสวนา การศึกษาประสบการณ์การแก้ไขความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองในต่างประเทศ

การประมวลวิเคราะห์ข้อมูลปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคม และสิ้นสุดที่ การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เกี่ยวข้องจำนวน 47 คน

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นความคิดเห็น ที่นักวิจัยประมวลขึ้น จากความคิดเห็นของคนอื่นๆ อีกทอดหนึ่ง ว่ากันตามจริง คุณค่าราคาอะไร ก็ไม่ได้ต่างไปจากความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนธรรมดาๆ หรอกครับ

ถามว่ามันจะสร้างความปรองดองได้หรือไม่ อย่างน้อยก็มี พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ คนหนึ่งหละ ที่ไม่เชื่อ ถึงกล้ายืนยันแนวทางการแก้ไขปัญหา ด้วยการเสนอให้ พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร เจรจากับ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

ส่วนว่า กระผมจะเห็นด้วย กับทั้งความคิดเห็นของ ธีรยุทธ บุญมี รวมถึง คณะผู้วิจัยของสถาบันพระปกเกล้า หรือไม่นั้น ท่าจะไม่ต้องเปลืองเวลากล่าวถึง เพราะไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร ต่างก็มีคุณค่า เพียงความคิดเห็น เท่าๆ กัน

หากแต่เสรีภาพในทางวิชาการ ที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองให้นั้น เป็นเรื่องสำคัญครับ หัวหน้าฝ่ายค้านจะอาศัยว่าหน้าตาดี มาทำเลอะๆ เทอะๆ เที่ยวให้คนนู้นคนนี้ถอน คงไม่ได้

โชคของท่านยังดี ที่กระผมไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นผู้วิจัย ไม่เช่นนั้น จะนำเรื่องฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ให้ลองพิจารณากันดู ว่ากรณีนี้ จะเข้าข่ายคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ หรือไม่ !!!

--------------------------------------

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอังคาร 3 เมษายน พ.ศ.2555 หน้า 6.
02 เม.ย. 55 / 22:19
0 0
finn [icon smile : 92 bytes] (3370) : [ protect email from spamware ]
view 1858 : discuss 0 : rating - : bookmarked 0 : vote 0 14.207.118.149


กระทู้นี้ต้องล็อกอินก่อนแสดงความคิดเห็นครับ

[icon login : 178 bytes]