|
|
" การสร้างความปรองดองแห่งชาติ (1): ประชาธิปไตยเสียงข้างมาก กับ ประชาธิปไตยคุณธรรม " |
|
|
การสร้างความปรองดองแห่งชาติ (1): ประชาธิปไตยเสียงข้างมาก กับ ประชาธิปไตยคุณธรรม
เก่ง วงศ์กล้า
keng_wongkla@hotmail.com
วุ่นวายกันมาแล้วพักหนึ่ง ทั้งกับ รายงานการวิจัยการสร้างความปรองดอง ของ สถาบันพระปกเกล้า และ รายงานของ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร
อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทยหมาดๆ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน จะเรียกร้องให้ถอนบ้างหละ
อดีตศาสตราจารย์ประจำ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รัฐมนตรีว่การกระทรวงศึกษาธิการเงา จะอภิปรายว่ารายงานฉบับหลัง ไม่ได้ใช้นิยามศัพท์ตรงกัน กับรายงานวิจัยฉบับแรกบ้างหละ
อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า จะออกแถลงการณ์ยืนยันความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 บ้างหละ
หากแต่ในท้ายที่สุดแล้ว สภาผู้แทนราษฎร ก็มีมติด้วยเสียงข้างมาก 307 ต่อ 0 เสียง เห็นชอบกับรายงานฉบับดังกล่าว และส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี ของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำไปพิจารณา เพื่อสร้างความปรองดองในชาติต่อไป
ด้วยเหตุนี้ ตลอดวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง บนหน้าสื่อ ทั้งสิ่งพิมพ์และออนไลน์
ว่านี่คือ ความยุติธรรมของผู้ชนะ บ้างหละ เสียง (พวก) ข้างมาก บ้างหละ กระทั่ง ปรองดองที่ยังไม่ก้าวข้าม ทักษิณ บ้างหละ บลา บลา บลา... จนเป็นที่น่าเหนื่อยหน่าย
เหนื่อยหน่ายกับการจีบปากจีบคอ ดัดจริต และแอ๊บแบ๊ว ของภาคส่วนต่างๆ ที่เลือกที่รักมักที่ชังอย่างออกนอกหน้า กับการใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก ในการตัดสินปัญหาทางการเมือง
ชนิดว่า หากเป็นพรรคการเมือง หรือกลุ่มก้อนที่ตนไม่ค่อยจะแฮปปี้ วิธีการดังกล่าว ก็จะกลายไปเป็นเรื่องเลวร้าย ไร้ซึ่งศีลธรรมอันดี ไม่ต่างจากการออกเสียงของโจร ว่าจะเข้าปล้นบ้านหลังหนึ่งๆ หรือไม่
แต่หากเป็นพรรคการเมือง หรือกลุ่มก้อนที่ตนเครซี่ วิธีการดังกล่าว ก็จะกลายไปเป็นสิ่งชอบธรรม สามารถหนุนส่ง ให้หัวหน้าพรรคการเมือง ที่มีเสียงเป็นอันดับ 2 เสียบขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี... ซะอย่างนั้น !
นี่หละครับประเทศไทย ดินแดนที่อะไรๆ ก็มีความสัมพัทธ์ [Relative] ไปเสียทุกอย่าง ดังที่ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านว่า จะพูดหรือจะทำอะไร ก็ต้องรู้จัก กาละ [Time] และ เทศะ [Space]...
เข้าใจกันเสียเช่นนี้ นักเรียนรัฐศาสตร์ หรือใครก็ตาม ซึ่งสนใจศึกษาเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย ก็อย่าได้ตั้งข้อสงสัย หรือตำหนิติเตียนใดๆ ต่อท่านอดีตผู้นำ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
เพราะฐานคติของการสถาปนาระบอบ ประชาธิปไตยแบบไทย ที่ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้ง ในมาตรา 17 ให้
นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นนั้น เป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
หาก นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่งคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวน หรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายในหรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร
ภายใต้เงื่อนไขประการสำคัญ ที่นายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นผู้แจ้งให้สภา ทราบ (มิใช่อนุมัติ หรือเห็นชอบ) ในภายหลัง ก็ตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐาน ของกาละเทศะ ตามคำโบราณนี้นี่เอง
ไม่เชื่อลองไปหาหนังสือ การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ ของ ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ รองศาสตราจารย์ประจำ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อ่านดูสิ นายกฤษฎา และ นายวิญญู ถกเถียงกันไว้ น่าสนใจทีเดียว
ย้อนกลับไปอ่านบทความ เรื่อง เสรีภาพในทาง วิชาการ ที่ลงตีพิมพ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจาก ระเบียบวิธีการวิจัย โดยสรุปอย่างคราวๆ กระผมก็ไม่ได้กล่าวถึงเนื้อหาส่วนใดอีกเลย ของรางานวิจัยฉบับดังกล่าว
เพื่อแสดงให้เห็นถึงจุดยืน ในฐานะ นักวิชาการ ที่จะเคียงข้างสถาบันพระปกเกล้า รวมถึงสถาบันวิจัยอื่นๆ ตลอดจนนักวิจัยทั้งหลาย
มิใช่ในแง่ของความถูกผิดของเนื้อหา หรือผลการวิจัย แต่เป็นในแง่ของเสรีภาพในทางวิชาการ ที่นักวิจัยทุกคน พึงมีพึงได้ ในการเสนอผลการวิจัยที่ตนเองค้นพบ
อย่างไรก็ตาม มิใช่เป็นไปเพื่อการประกาศ ว่าข้อค้นพบดังกล่าว เป็นความจริงสูงสุด อย่าง สัจธรรม แต่เป็นไปเพื่อเสนอทางเลือก ที่ทุกภาคส่วนของสังคม สามารถร่วมกันพิจารณา ตรวจสอบได้ ในฐานะ ความคิดเห็น ที่เท่าเทียมกัน
เมื่อมีโอกาสได้ใช้เวลา พิจารณารายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ รวมถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ของ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน เมื่อช่วงหัวค่ำ ของวันพุธที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา
ก็ได้ให้ตระหนัก เกี่ยวกับข้อเสนอแปร่งๆ ใน บทสรุปผู้บริหาร (ที่ถูกใครก็ไม่รู้ตราหน้า ว่าเป็นพวกขี้เกียจ ไม่มีความอดทน แม้แต่ในการอ่านอะไรยาวๆ หรือมีรายละเอียดเยอะๆ) ว่าด้วย ปัญหาใจกลาง ซึ่งคณะผู้วิจัย ชี้ไว้ว่า คือ
มุมมองที่แตกต่างกันต่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอำนาจและทรัพยากรในสังคม
ระหว่างฝ่ายหนึ่ง ที่ให้น้ำหนักต่อการเลือกตั้ง ซึ่งความชอบธรรมของผู้บริหารประเทศ อยู่ที่ เสียงข้างมาก ของประชาชน
กับอีกฝ่ายหนึ่ง ที่ให้น้ำหนักต่อ คุณธรรมจริยธรรม ของผู้บริหารประเทศ มากกว่าความเป็นตัวแทน ของคนส่วนใหญ่
วันนี้ จึงขออนุญาต คัดลอกส่วนหนึ่งของรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ซึ่ง ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ แถลงแล้วว่า ประชาชนทั่วๆ ไป ก็สามารถเข้าถึงได้ทางเว็ปไซต์ ของสถาบันพระปกเกล้า เกี่ยวกับนิยามของประชาธิปไตย ทั้ง 2 รูปแบบ
ประชาธิปไตยที่เน้นเสียงข้างมาก: คุณค่าของระบอบประชาธิปไตยในแนวทางนี้ ให้ความสำคัญกับเสียงข้างมากในระบบเลือกตั้ง มีแกนกางอยู่ที่
ความชอบธรรมของระบอบการปกครองที่ผู้บริหารประเทศมาจากการเลือกตั้ง บนฐานของเสียงข้างมากจากประชาชน
โดยเชื่อว่าเป็นระบบการคัดสรรตัวแทนของประชาชน ที่ตรงกับความต้องการของประชาชน ได้อย่างแท้จริง การตัดสินใจของผู้แทนทางการเมืองที่มาจากเสียงข้างมาก ถือเป็นความชอบธรรมของสังคม
ทั้งนี้ ผู้แทนของประชาชนที่มีที่มาจากการเลือกตั้ง ย่อมจะมีความสำนึกรับผิดชอบต่อประชาชน สามารถสะท้อนเสียงความต้องการของประชาชน เพราะเป็นตัวแทนที่ใกล้ชิดกับประชาชน มากที่สุด
โดยความยั่งยืนของการเป็นตัวแทนของประชาชน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดสรรทรัพยากร และกำหนดนโยบายสาธารณะที่สะท้อนโดยตรง ถึงความต้องการของประชาชน
ขณะที่ ประชาธิปไตยที่เน้นคุณธรรม: สำหรับแนวทางที่สองนั้น มีมุมมองต่อคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยที่แตกต่างไป โดยเริ่มจากแนวคิดที่ว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยต้องควบคู่ไปกับระบอบคุณธรรม
เพราะประชาธิปไตยมีองค์ประกอบที่หลากหลาย และปรับเปลี่ยนไปตามบริบทและวัฒนธรรมทางการเมืองของแต่ละสังคม สำหรับแนวทางนี้ คุณค่าของระบอบประชาธิปไตยที่มีความชอบธรรมนั้น
ผู้นำต้องให้น้ำหนัก กับคุณธรรมและจริยธรรม ในการกำกับการดำเนินนโยบายภาครัฐ มากเสียยิ่งกว่าการยึดถือเสียงข้างมาก
ซึ่งนับเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง ของประชาธิปไตย เท่านั้น และในบางกรณี เสียงข้างมากอาจไม่นำไปสู่ผลประโยชน์สูงสุดของชาติ หรือความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งของผู้นำทางการเมืองเสมอไป
เชื่อว่ารูปแบบแรกนั้น ผู้ที่พอมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับประชาธิปไตยตะวันตกอยู่บ้าง คงคุ้นตา และทำความเข้าใจได้ไม่ยาก
แต่สำหรับรูปแบบหลัง ที่สถาบันพระปกเกล้า พยายามเฉไฉ และจัดให้เป็นประชาธิปไตยอีกรูปแบบหนึ่ง รูปแบบที่เสียงส่วนใหญ่ มีความสำคัญน้อยกว่าคุณธรรมและจริยธรรม ในการรับรองความชอบธรรม ของผู้นำประเทศ
หลายคนคงอยากจะอุทานออกมาดังๆ ว่าเจริญหละครับพี่น้อง... สถาบันที่แอบอิงอยู่กับพระนาม ของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์ผู้ได้ชื่อว่านักประชาธิปไตยพระองค์หนึ่งของไทย
กลับไม่กล้าแม้แต่จะยอมรับ ว่าลักษณะดังกล่าว แท้ที่จริง ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ของระบอบการปกครองที่เรียกว่า เผด็จการ
แต่เป็นเผด็จการในคลาบของนักบุญ ที่ เพลโต [Plato] และ อริสโตเติล [Aristotle] สองปราชญ์คนสำคัญ แห่งยุคกรีกโบราณ มองกันต่างมุม
ผู้เป็นอาจารย์ ยกย่องว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด ขณะที่ผู้เป็นศิษย์ เห็นว่ามีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง เรียกว่า ราชาปราชญ์ หรือ Philosopher King เผด็จการผู้หวังดีต่อปวงประชา...
เหอะ เหอะ... เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ จากกันวันนี้ จึงขออำลาไปด้วยวลีคลาสสิกของท่านผู้นำ พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ...
--------------------------------------
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ.2555 หน้า 6. |
|
|
09 เม.ย. 55 / 17:40 |
|
0
0
|
|
|
|
|
|
view 2060 : discuss 0 : rating - : bookmarked 0 : vote 0
|
158.108.140.139
|
|