[suanboard monotone logo : 2777 bytes]
[header decor line : 64 bytes]
HOME RULE FAVOURITE MEMBER ZONE REACTIVATE FORGET PASSWORD    

SEARCH [icon freecompose : 217 bytes]
[icon register : 195 bytes] สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก : โพสต์รูป, รูปแบบตัวอักษร, ไอคอน, bookmark, ค้นหาข้อความ ฯลฯ [icon login : 178 bytes]

[icon-delete : 101 bytes]
" ความพ่ายแพ้ของขบวนการวาทกรรมว่าด้วย 'สิ่งแวดล้อม' (2) "
ความพ่ายแพ้ของขบวนการวาทกรรมว่าด้วย 'สิ่งแวดล้อม' (2)

เก่ง วงศ์กล้า
keng_wongkla@hotmail.com

ปล่อยเวลาผ่านกันมากว่าครึ่งเดือน ถ้าไม่มีอะไรแปลกใหม่ หรือรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่นี้ เห็นทีอีกไม่นาน หนังสือเรียนวิชาสังคมศึกษา ของเด็กๆ ชั้นประถม คงจะมีชื่อ “เขื่อนแม่วงก์” ปรากฎให้ท่องกันเป็นแน่แท้

งานนี้ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ความผิดพลาด” เพราะเอาเข้าจริง มันคือ “ความพ่ายแพ้” ไม่ใช่ในทางยุทธศาสตร์นะครับ เพราะข้อนั้น ตั้งตระหง่านอยู่อย่างชัดแจ้ง ไม่มีโคนเคนเอนเอียง

นักอนุรักษ์รุ่นก่อนๆ ปิดถนน เดินขบวน ชูป้ายบ้าง ตะโกนบ้าง ว่า “ไม่เอาเขื่อน” นักอนุรักษ์เดี๋ยวนี้ ก็ยังคงใช้คำเดิมๆ วาทกรรมเดิมๆ แต่สิ่งที่เปลี่ยน คือ “ยุทธวิธี”

หลายคนอ้างว่า เดี๋ยวนี้เรามีอารยธรรมมากขึ้น เจริญแล้ว พัฒนาแล้ว การใช้กำลังเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางการเมือง เป็นเรื่องของความป่าเถื่อน สร้างความเดือดร้อน ละเมิดสิทธิของผู้อื่น... บลา บลา บลา...

ในฐานะคนเมือง กระผมย่อมเห็นด้วยอย่างสมบูรณ์ ไหนจะเกษตรกร ไหนจะคนขับรถแท๊กซี่ ไหนจะผู้ใช้แรงงาน เสื้อเหลือง เสื้อแดง สารพัดจะระดมกันมา ปิดถนน กีดขวางช่องทางจราจร รถติดกันไปทั้งเมือง เดือดร้อนครับเดือดร้อน

แต่ก็อย่างที่ รองศาสตราจารย์ ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ แห่งคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านเพิ่งไปบรรยายที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เมื่อสัปดาห์ก่อนนั่นแหละ

ว่า “การเมือง” ก็คือเรื่องที่เขาทำกันในเมือง ปรับเข้ากับยุคของ อริสโตเติล (Aristotle) ผู้เขียนหนังสือ เรื่อง “Politics” ก็เข้าใจได้ว่า เป็นกิจกรรมที่ทำกันในนคร หรือ “Polis” มิใช่ในทุ่งในนา ในป่าในเขา

เช่นเดียวกับยุคปัจจุบัน ที่ก็ยังเป็นเรื่องซึ่งต้องทำกันในกรุง เพราะมันเป็นศูนย์กลาง เป็นที่รวม ของทั้งคน ทั้งหน่วยงาน และที่สำคัญ คืออำนาจในการตัดสินใจของรัฐ ที่เรียกว่าอำนาจอธิปไตย

อำนาจที่อยู่ในอุ้งมือของผู้ปกครอง ผู้ซึ่งจะได้รับอำนาจดังกล่าว มาด้วยวิถีทางใดก็ตาม จากบรรพบุรุษ โดยการสืบสายเลือด จากกลุ่มอำนาจเก่า โดยการปราบดา หรือจากประชาชน โดยการเลือกตั้ง

ความพยายามก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยกำลังเช่นนี้ ตั้งแต่การประท้วงเรียกร้อง ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เรียกร้องให้ควบคุมราคาเชื้อเพลิง เรียกร้องค่าแรง 300 บาท เรียกร้องความเป็นธรรมทางการเมือง

กระทั่งการรัฐประหาร ยึดอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เขาถึงต้องทำกันในกรุงเทพฯ หน้าทำเนียบฯ บ้าง หน้า ปตท. บ้าง สนามหลวงบ้าง แยกราชประสงค์บ้าง ลานพระบรมรูปทรงม้าบ้าง

ไม่ใช่บุกป่าฝ่าดง เข้าไปในทุ่งใหญ่นเรศวร เทือกเขาบูโดสุไหงปาดี หรือแม้แต่ออกเรือไปลอยลำอยู่กลางอ่าวไทย เพราะแม้จะเป็นรูปแบบที่อาจได้รับการสรรเสริญ แต่นอกจากหน้าข่าวสักวันสองวัน ผลในทางปฏิบัติใดๆ คงไม่เกิดขึ้น

จะสังเกตได้ว่า ผู้ที่ใช้ความรุนแรง ก่อความเดือดร้อน ล้วนอยู่ในพาราไดม์ของพวก ชนชั้นล่าง บ้านนอก โง่ จน เจ็บ ดักดาน ไดโนเสาร์ เต่าล้านปี ไม่พัฒนา ไม่มีการศึกษา ทั้งสิ้น

ขณะที่ผู้ซึ่งเป็นอารยะ มีการศึกษา จะกระทำในแนวทางตรงกันข้าม คือใช้ปัญญา พูดคุยถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล วิเคราะห์ปัญหากันให้ถึงแก่น จะให้ดี ควรที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ อันประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ พิจารณาเสียก่อน

เห็นชัดว่าการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้าน การสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่ผ่านมา ล้วนตั้งอยู่บนยุทธวิธีหลัง ยุทธวิธีของชนชั้นกลางเมือง ผู้ผ่านการศึกษาเรื่องประชาธิปไตยสมัยใหม่ แทบทั้งสิ้น

ไม่มีอีกแล้ว การปลุก “ม็อบ” ออกมา เพื่อปิดถนน เดินขบวน ชูป้าย ตะโกนด้วยเสียงอันดัง ว่า “ไม่เอาเขื่อน” ยุทธวิธีบ้านๆ ของนักอนุรักษ์รุ่นโบราณ

เดี๋ยวนี้มีแต่ การ “เสวนา” ระดมสมอง พ่นกันเองในห้องประชุม เมื่อวันศุกร์ที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา เห็นว่าก็เพิ่งจะจัดกันไป ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เรื่อง “ทำลายป่าเพื่อสร้างเขื่อน”

การเปิด “เฟสบุ๊ค” กดไลค์ คอมเมนท์ และแชร์กันไปกันมา อาทิ “หยุด!!! เขื่อนแม่วงก์ STOP DAM” (835 Likes) “หยุดก่อน! เขื่อนแม่วงก์/Stop! Mae Wong Dam” (471 Members) และ “กลุ่มต่อต้าน เขื่อนแม่วงก์” (231 Friends) เป็นต้น

ล่าสุด มีกลุ่มอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจจกรม ในนามคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม 16 สถาบัน ออกมาร่วมรณรงค์ ชงกาแฟแจกจ่าย ในชื่อกิจกรรม “คนกินกาแฟ ไม่เอาเขื่อน” (คนไม่กินกาแฟ ก็ไม่เอาเขื่อน)

ถูกกับแนวทางทีเล่นทีจริง ของแกนนำอย่าง นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้โด่งดัง ที่เขียนไว้บนหน้าเฟสบุ๊คส่วนตัว ตั้งแต่ 20.11 น. ของวันศุกร์ที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา ว่า

“พรุ่งนี้จะคุยกันะครับว่า กระบวนการลงชื่อคัดค้านเพิ่มเติมจะทำอย่างไร ถึงจะดูเท่ห์ๆ เอ๊ยไม่ใช่ ทำให้สามารถส่งผลถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจ หันมารับฟังนะครับ”

คล้อยหลังเพียง 2 นาที ผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อ โอ น้อยออก ก็เข้ามาคอมเมนท์เป็นคนแรก ว่า “ปกติก็ดูเท่ห์อยู่แล้วจ้า...^^”

ยุทธวิธีเดิ้นๆ ชิคๆ ดูดีๆ เท่ห์ๆ แบบนี้ ก็เข้าท่าดีเหมือนกันนะครับ ออกแนวจะวินๆ ทุกคนได้ทำหน้าที่ของตน แถมผลประโยชน์ส่วนตน กันตามสมควร

นักอนุรักษ์ได้ภาพลักษณ์ นักข่าวได้ข่าว ชาวบ้านได้เขื่อน รัฐบาลได้ค่าคอมมิชชั่น... ไม่มีใครต้องเลือดตกยางออก ไม่ต้องเหนื่อย ยุคนี้เขาเน้นปรองดองครับปรองดอง

เฮ้อ... มีแต่นักรบบนเฟสบุ๊คเช่นนี้ ให้อดนึกถึง ฝ่ายเสนาธิการคนสำคัญ ของสมัชชาคนจน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ได้ครับ

เพราะถ้าเรื่องนี้ ไม่มัวเสียเวลากับคำขู่ ว่าจะถึงครูอังคณาแน่ ตรงไปถึงครูประภาส เลยแต่ต้น รับรองว่าทั้งรัฐบาล ทั้งกรมลประทาน หมดสิทธิ์เคี้ยวหมู อย่างที่เป็นอยู่นี้ แน่นอนครับ !!!

--------------------------------------

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2555 หน้า 6.
30 เม.ย. 55 / 22:43
0 0
finn [icon smile : 92 bytes] (3370) : [ protect email from spamware ]
view 1749 : discuss 0 : rating - : bookmarked 0 : vote 0 171.7.178.182


กระทู้นี้ต้องล็อกอินก่อนแสดงความคิดเห็นครับ

[icon login : 178 bytes]